สภาวการณ์ชะงักงันในภาคใต้
สภาวการณ์ชะงักงันในภาคใต้
Op-Ed / Asia 1 minute

สภาวการณ์ชะงักงันในภาคใต้

ขณะที่ในช่วงปีนี้ความสนใจของคนไทยส่วนใหญ่จดจ่ออยู่กับความขัดแย้งแบ่งสีทางการเมือง สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กลายเป็นประเด็นชายขอบของการถกเถียงในพื้นที่สาธารณะและกำลังอยู่ในสภาวะชะงักงันที่มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ขณะที่การก่อเหตุรุนแรงมีสถิติลดลงไปบ้างในช่วงสามปีที่ผ่านมา แต่กองทัพก็รู้ดีว่าจะไม่สามารถยุติความขัดแย้งที่ยืดเยื้อนี้ได้ด้วยวิธีทางการทหารแต่เพียงอย่างเดียว

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการมองปัญหาเป็นสิ่งจำเป็น แต่การริเริ่มนโยบายใหม่ๆ นั้นเกิดขึ้นได้ยากตราบใดที่การเมืองระดับชาติยังคงไร้เสถียรภาพ

ความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นมากว่าหกปีและคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 4,400 คน แต่รัฐบาลกลับดูเหมือนจะเฉยชากับตัวเลขความสูญเสียอันมหาศาลเช่นนี้

ในช่วงสิบเดือนแรกของปีนี้ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 368 ราย ความชินชาต่อปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่นี้เป็นสิ่งที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มิได้พยายามอย่างเพียงพอในการผลักดันนโยบายการแก้ปัญหาด้วยการเมืองตามที่ได้ประกาศไว้

นายกฯอภิสิทธิ์ได้ประกาศหลังเข้ารับตำแหน่งไม่นานว่าจะยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แต่ทว่าคณะรัฐมนตรีกลับเพิ่งอนุมัติการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นครั้งที่ 21 เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม

นายอภิสิทธิ์ได้ระบุในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่ว่ารัฐบาลได้เริ่มกำหนดพื้นที่ในบางอำเภอเพื่อพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ว่ากองทัพก็ยังเป็นเสียงสำคัญที่คัดค้านนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีผลให้อำนาจของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงถูกลดทอนลง

เป็นที่น่าจับตามองว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการตามที่ได้ลั่นวาจาไว้หรือไม่ เมื่อถึงกำหนดในการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกครั้งหนึ่งในเดือนมกราคมปีหน้า

รัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญอย่างมากและทุ่มเทงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทในโครงการพัฒนาต่างๆ ในขณะที่หลายฝ่ายยังคงกังขาว่าการมอบความช่วยเหลือ เช่น การมอบพันธุ์ปลาหรือลูกเป็ด จะช่วยให้ชาวบ้านเข้มแข็งขึ้นหรือจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้จริงหรือไม่ แม้ว่าโครงการเหล่านี้อาจทำให้ชาวมลายูมุสลิมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบ้าง แต่รากของความขัดแย้งก็ไม่ได้มาจากความยากจน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความคับข้องใจทางการเมืองเป็นสำคัญ

ฉะนั้น ความพยายามแก้ไขปัญหาความอยุติธรรมนับแต่ครั้งอดีต ตลอดจนการให้ความเคารพต่ออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนาของผู้คนในท้องถิ่นน่าจะเป็นประเด็นที่รัฐควรให้ความสำคัญในการวางนโยบายการแก้ปัญหาในภาคใต้

แม้นายอภิสิทธิ์จะได้ประกาศไว้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่องความยุติธรรม แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีความคืบหน้าในการนำเอาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ

การก่อเหตุระเบิดพร้อมกันหลายพื้นที่เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะการวางระเบิดแสวงเครื่องแบบเหยียบในสวนยางของชาวพุทธ ดูเหมือนกับจะเป็นการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้ผู้คนหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบ

อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้ ภายหลังจากที่ศาลสรุปการไต่สวนการตายในปีที่ผ่านมาว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คนที่ถูกบังคับให้นอนซ้อนทับในรถบรรทุกทหารถึงแก่ความตายเพราะ "ขาดอากาศหายใจ" โดยเจ้าหน้าที่ทหารนั้นได้ปฏิบัติงานไปตามหน้าที่

นอกจากกรณีนี้แล้ว ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องอดีตทหารพรานนายหนึ่งที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีการกราดยิงมัสยิดอัลฟุรกอนเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตสิบคนและบาดเจ็บอีกสิบสองคน ความล้มเหลวในการเอาผู้ก่อเหตุเหล่านี้มาลงโทษยิ่งตอกย้ำความคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนที่ทำงานให้รัฐที่ทำผิดไม่เคยต้องได้รับโทษและทำให้คำบอกเล่าของขบวนการว่าการปกครองของรัฐไทยนั้นไม่มีความยุติธรรมเป็นสิ่งที่มีความจริงรองรับมากยิ่งขึ้น ประเด็นเหล่านี้เป็นเชื้อไฟอย่างดีที่ผลักให้ชาวมลายูมุสลิมหันไปจับอาวุธต่อสู้กับรัฐไทยมากยิ่งขึ้น

นโยบายอีกอย่างหนึ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ประกาศไว้คือการพิจารณาลดกำลังทหารในภาคใต้ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนกว่า 30,000 นาย แต่ก็ยังมิได้มีการดำเนินการใดๆ

เพื่อเตรียมความพร้อมในการลดจำนวนทหาร รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องเพิ่มจำนวนของตำรวจและอาสาสมัครพลเรือนในการทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยควรจะมีการถ่ายโอนงานที่ต้องใช้กำลังพลมากซึ่งปัจจุบันกองทัพรับผิดชอบอยู่ เช่น การคุ้มครองครู ไปยังตำรวจและกองกำลังพลเรือน

อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จประการหนึ่งของรัฐบาลนี้คือ การผ่านร่างกฎหมายศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลให้ ศอ.บต.ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเป็นอิสระจากการกำกับของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ที่คาดจะมีการบังคับใช้ในต้นปีหน้าจะให้อำนาจกับเลขาธิการ ศอ.บต.ในการสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ซึ่งรวมถึงตำรวจที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมด้วย ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างในครั้งนี้ควรจะนำไปสู่การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งมากขึ้นด้วย มิใช่เป็นเพียงแต่การปรับโครงสร้างบริหารในระบบราชการเท่านั้น

มาตรการเชิงรุกทางการเมืองอย่างหนึ่งที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะเริ่มนำมาใช้ในเร็ววันนี้คือ มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน มาตรการนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับการนิรโทษกรรม โดยกฎหมายอนุญาตให้ ผอ.รมน.สามารถระงับการดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงได้ โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาล โดยผู้ที่เข้ามามอบตัวนั้นจะต้องเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน กองทัพคาดหวังว่ามาตรการนี้จะเป็นกลไกเชิงรุกสำคัญที่ทำให้บรรดาผู้ก่อความไม่สงบเข้ามอบตัวและส่งผลให้ขบวนการอ่อนแอลง

แต่นักสิทธิมนุษยชนบางส่วนกังวลว่ามาตรการนี้อาจทำให้เกิดการบังคับให้ผู้ต้องหารับสารภาพเพื่อแลกกับการระงับการดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีการดำเนินการอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม การใช้มาตรการนี้แต่เพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจเป็นวิถีทางที่นำความสงบสันติมาสู่ภาคใต้ได้ ตราบใดที่รัฐยังคงไม่มีเจตจำนงในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ทางด้านสังคมและการเมือง

การแก้ปัญหาด้วยการเมืองนั้นควรจะรวมถึงองค์ประกอบสำคัญสองเรื่อง คือ การพูดคุยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและการปรับโครงสร้างการบริหารการปกครอง ในช่วงวันที่ 10 มิถุนายนถึง 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มพูโลและบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท ได้ประกาศยุติการก่อเหตุรุนแรงชั่วคราวในสามอำเภอในจังหวัดนราธิวาส แต่รัฐบาลก็แสดงท่าทีเพิกเฉยต่อการดำเนินการดังกล่าว เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่ว่ารัฐบาลไม่แน่ใจว่ากลุ่มเหล่านี้มีความสามารถในการควบคุมการก่อเหตุรุนแรงมากน้อยเพียงใด แต่การที่รัฐบาลปฏิเสธไม่สานต่อท่าทีเช่นนี้ของฝ่ายขบวนการเป็นเรื่องน่าเสียดาย

รัฐบาลควรจะดำเนินการอย่างจริงจังในการแสวงหารูปแบบทางเลือกในการกระจายอำนาจที่เป็นไปได้ภายใต้หลักการปกครองแบบรัฐเดี่ยว (the principle of unitary state) เพื่อสร้างช่องทางทางการเมืองเพื่อให้ชาวมลายูมุสลิมสามารถแสดงถึงความอึดอัดคับข้องใจและต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ในหนทางแห่งสันติ

สังคมไทยจำเป็นต้องคิดในสิ่งที่เดิมไม่อาจแม้แต่จะคิด (think the unthinkable) การสูญเสียชีวิตของผู้คนในแต่ละวันเป็นราคาของความขัดแย้งที่แพงเกินกว่าที่รัฐไทยจะเพิกเฉยต่อไปได้

 

Subscribe to Crisis Group’s Email Updates

Receive the best source of conflict analysis right in your inbox.