ประทศไทย: คำเตือนภัยว่าด้วยความขัดแย้ง
ประทศไทย: คำเตือนภัยว่าด้วยความขัดแย้ง
Anti-government protesters gather outside the Central World mall in the shopping district in central of Bangkok, January 2014. REUTERS/Nir Elias
Anti-government protesters gather outside the Central World mall in the shopping district in central of Bangkok, January 2014. REUTERS/Nir Elias
Alert / Asia 6 minutes

ประทศไทย: คำเตือนภัยว่าด้วยความขัดแย้ง

การชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเพื่อที่จะทำลายการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ในขณะนี้ ทำให้แนวโน้มการเกิดความรุนแรงทางการเมืองที่ขยายกว้างมีสูงขึ้น และจำกัดทางออกที่สันติให้แคบลง การประท้วงของกลุ่มนี้ อาจมุ่งให้เกิดการรัฐประหาร หรือสนับสนุนการรัฐประหารโดยตุลาการ หากผู้ชุมนุมสามารถทำให้การเลื่อนการเลือกตั้งเป็นผลสำเร็จ และจัดตั้งรัฐบาลรักษาการที่มาจากสภาที่แต่งตั้งได้ ประชาชนที่เรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญก็คงจะออกมาต่อต้านเช่นเดียวกัน กลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองไทยที่กำลังแข่งขันอำนาจกัน ซึ่งต่างมีมวลชนหนุนหลังอยู่นั้น เห็นแย้งกันในเรื่องพื้นฐานว่าด้วยอำนาจทางการเมืองควรจะได้มาและใช้อย่างไร การเลือกตั้ง และกลุ่มที่คัดค้านมัน เป็นผลึกที่ตกจากปัญหาทางการเมืองของไทยว่าด้วยการหาฉันทามติในการเมืองไทย นั่นคือ รัฐบาลควรได้รับความชอบธรรมจากประชาชน หรือโดยสถาบันตามประเพณี อย่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพกันแน่

นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ความตึงเครียดทางการเมืองและในเชิงโครงสร้าง ได้สร้างความขัดแย้งที่จับอยู่ที่ตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ผู้ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นในภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งประชาชนในภูมิภาคเหล่านี้ได้ตระหนักในพลังการเลือกตั้งของตนเอง ทักษิณได้ท้าทายสถาบันต่างๆ ที่อาศัยความชอบธรรมจากอำนาจตามประเพณี ไม่ว่าจะเป็น กองทัพ ตุลาการ เครือข่ายราชวัง และองค์กรตรวจสอบต่างๆ ที่เรียกว่า “องค์กรอิสระ” สถาบันและองค์กรต่างๆ เหล่านี้ ได้พยายามกำจัดทักษิณ ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา แต่ก็ล้มเหลว

ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ได้จัดการชุมนุมในกรุงเทพตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นไปอย่างสันติ แต่ก็มีการเข้ายึดสถานที่ราชการ ทำร้ายคนเสื้อแดง ขัดขวางการรับสมัครลงทะเบียนผู้รับเลือกตั้ง และปะทะกับตำรวจบ้างในบางครั้ง มีมือปืนที่ทำร้ายผู้ชุมนุมในชุมนุมต่างๆ มีอย่างน้อย 8 คนที่เสียชีวิต และกว่า 450 คนที่ได้รับบาดเจ็บในความรุนแรงจากการชุมนุม

ไม่มีทางออกที่ชัดเจนจากความรุนแรงนี้ แต่มันก็มีบางอย่างที่จะทำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วกลายเป็นหายนะ การปฏิเสธไม่ให้มีการเลือกตั้งเป็นอันหนึ่ง เช่นสิ่งที่ผู้นำบางส่วนพยายามจะทำโดยใช้การกระทำของมวลชนและบ่อยครั้งที่รุนแรง เพื่อให้ได้สิ่งที่พวกเขาต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาจะไม่ได้จากอาณัติของประชาชนส่วนใหญ่หรือการเจรจา ประเทศไทยต้องการความเป็นผู้นำที่สามารถสร้างการหารือที่มีส่วนร่วมในระดับชาติอย่างแท้จริง มากพอๆ กับการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการหาทางให้ประเทศเดินไปสู่หนทางที่มีเสถียรภาพได้

ในขณะที่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยกระดับการชุมนุมขึ้นเรื่อยๆ ความเสี่ยงการเกิดความรุนแรงในทุกภาคส่วนของสังคมก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มกปปส. ที่นำโดยอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แน่วแน่จะขับไล่รัฐบาลรักษาการของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ พวกเขายังมุ่งจะทำลายการเลือกตั้งซึ่งพวกเขาเกรงว่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยของทักษิณนั้นกลับมาอีก ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่ใกล้ชิดกับทักษิณชนะการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2544 นับเป็นสถิติที่ทำลายศรัทธาต่อการเลือกตั้งสำหรับศัตรูของเขา กปปส. มองว่าทักษิณนั้นชั่วร้ายและคอร์รัปชั่นอย่างที่สุด และมองว่าความสำเร็จในการชนะการเลือกตั้งนั้นมาจากการซื้อเสียงและความหัวอ่อนของพลเมืองที่ยากจน มีการศึกษาที่ด้อยกว่า ซึ่งชอบนโยบายประชานิยมที่ไร้จริยธรรมและความยั่งยืน

กลุ่มกปปส.ยืนยันว่ามาตรการขั้นพิเศษ เช่น การงดเว้นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง จำเป็นต่อการ “ถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณ” พวกเขาอ้างมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญเพื่ออธิบายความชอบธรรมในการไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเสนอให้กำจัด “ระบอบทักษิณ” ด้วยสภาประชาชนที่มาจากการแต่งตั้ง ประกอบด้วย “คนดี” จำนวน 100 คน ซึ่งจะเลือกและแต่งตั้งคนจำนวน 300 คนที่เป็นตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ มาปกครองเป็นเวลา 18 เดือน และทำการปฏิรูป โดยวาระการปฏิรูปดังกล่าวกำหนดไว้กว้างๆ โดยมีประเด็นเช่น การกระจายอำนาจ การเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด กฎหมายต้านคอร์รัปชั่นที่แรงขึ้น และการปฏิรูปตำรวจ

หลังจากชัยชนะการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยในปี 2554 ยิ่งลักษณ์ได้กระชับความสัมพันธ์กับฝ่ายตรงข้ามของทักษิณในหมู่เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงในกองทัพและองคมนตรี กลุ่มต่อต้านรัฐบาลก็ไม่มีแรงชัดเจน จนกระทั่งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลได้ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ซึ่งจะลบล้างคดีใช้อำนาจโดยมิชอบของทักษิณเมื่อปี 2551 และจะลบล้างข้อกล่าวหาต่ออดีตนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในขณะนั้น จากความผิดที่เกิดจากการสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 90 ราย รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารที่ทำตามคำสั่งด้วย ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวกระพือความเกลียดชังต่อฝ่ายค้านของทักษิณ และทำให้เกิดการชุมนุมที่ต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งมีชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมารัฐบาลได้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าว หลังเผชิญแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วง รวมถึงคนเสื้อแดงด้วย

แม้ก่อนที่ส.ว. จะปฏิเสธไม่รับร่างดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ผู้นำการชุมนุมก็เปลี่ยนเป้าหมายมาสู่การขับไล่รัฐบาล ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่ง รวมถึงสุเทพ ลาออกจากพรรคและนำการชุมนุมด้วยตนเอง หลังจากที่ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ลาออกทั้งพรรค ยิ่งลักษณ์ได้ยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. และกลายเป็นรัฐบาลรักษาการ การเลือกตั้งได้ถูกกำหนดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญ และมีการลงนามในพระราชกฤษฎีกา จากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้ตัดสินใจบอยคอตต์การเลือกตั้ง เช่นเดียวกับที่ทำในปี 2549 และสนับสนุนการประท้วงของกลุ่มกปปส.

กปปส. มีแผนจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นอัมพาต เพื่อขับไล่รัฐบาลและบังคับให้ยกเลิกการเลือกตั้ง ความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงเพื่อเป็นเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารก็มีขึ้น ผบ.ทบ. ประยุทธ จันทร์โอชา ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา กองทัพได้ทำการรัฐประหารทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ ทั้งหมด 18 ครั้ง และปราบปรามการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยด้วยกำลังในปี 2516, 2535 และ 2553 ทั้งนี้ กองทัพไม่เคยเข้ามาแทรกแซงในนามของรัฐบาลที่ใกล้ชิดกับทักษิณเลย

มันยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย หากการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปโดยไม่ได้รับการยินยอมจากรัฐบาล หรือผลการเลือกตั้งถูกทำให้เป็นโมฆะ ประชาชนที่เคยประสบการถูกไล่ผู้แทนของตนเองในปี 2549 และ 2551 อาจไม่เห็นวิธีอื่นนอกจากการต่อสู้ด้วยความรุนแรง ทั้งนี้ ส่วนผสมของการประท้วงบนท้องถนนและการแทรกแซงของตุลาการเพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ในปี 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลและยึดสนามบินในกรุงเทพฯ เป็นเวลาหลายเดือน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งมาก่อนหน้าพรรคเพื่อไทย หลายฝ่ายมองว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นเลือกข้าง เช่นเดียวกับ “องค์กรอิสระ” ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งมาจากคณะรัฐประหารปี 2549 เนื่องจากสมาชิกถูกแต่งตั้งโดยคณะกรรมการที่เต็มไปด้วยผู้พิพากษาและข้าราชการ ซึ่งไม่สามารถถูกตรวจสอบตามประชาธิปไตยได้

การเลือกตั้งในครั้งนี้เผชิญกับหลุมพรางหลายด้าน การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อบอยคอตต์การเลือกตั้ง อาจเป็นเงื่อนไขที่จะท้าทายความชอบธรรมของการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งมีท่าทีลังเลที่จะทำหน้าที่ของตนเอง และได้เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป ผู้ชุมนุมได้ขัดขวางผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ให้ลงทะเบียนใน 28 เขตของจังหวัดทางใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ของประชาธิปัตย์ กกต. ควรหามาตรการแก้ไขเรื่องนี้ แต่มันก็ยังไม่แน่นอนว่าจะเป็นอย่างไร

เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา ปปช. ชี้ว่าส.ส. 308 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพรรคเพื่อไทย มีมูลความผิดจากการที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ส.ว. ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง หลายคนจากจำนวนนั้นเป็นผู้สมัครและอาจถูกตัดสิทธิหากถูกว่าถูกวินิจฉัยว่าผิดจริง   หากว่าจำนวนเก้าอี้ในสภามีน้อยกว่าร้อยละ 95 ของจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ก็จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อมก่อนจะเปิดสภาได้

ความตึงเครียดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นเพียงผิวหน้าของความขัดแย้งพื้นฐานและแก้ไม่ตก วิกฤติในทุกวันนี้มีขอบเขตที่กว้างกว่าเดิมต่อความรุนแรงที่เรื้อรังต่อเนื่องมากกว่าครั้งก่อนๆ เพราะมันไม่มีพื้นที่ตรงกลางหรือความต้องการของผู้ชุมนุมที่จะยอมประณีประนอมใดๆ

การตกลงให้เลื่อนการเลือกตั้งอาจจะช่วยซื้อเวลาการเจรจา แต่มันจะเป็นการแก้ไขเพียงชั่วคราว ถ้าหากไม่มีการทำข้อตกลงที่กว้างขวางและครอบคลุมในเรื่องอนาคตทางการเมือง ประเทศไทยมีการแบ่งเป็นขั้วอย่างชัดเจน และความหวังต่อการส้รางข้อตกลงเช่นนั้นยังมีไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ไม่มีประโยชน์ที่จะสิ้นหวัง ทุกฝ่ายต้องเข้าใจและยอมรับว่าความรุนแรงจะไม่ได้สร้างรัฐบาลที่ตอบสนองและโปร่งใสขึ้นกว่าเดิม และการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวก็จะไม่ช่วยแก้ปัญหาความไม่เห็นพ้องขั้นพื้นฐานต่อเรื่องที่มาและการใช้อำนาจทางการเมือง แต่วิธีการต่อไปนี้ ควรถูกระลึกไว้ในขณะที่กำลังจะเกิดทางตัน

  • ไม่มีวิธีทางที่จะไปสู่ทางออกอย่างสันติได้ หากไม่มีการเคารพเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ การตั้งรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งโดยไม่มีความยินยอมของเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่จะมีแต่ก่อให้เกิดความรุนแรง
     
  • พรรคประชาธิปัตย์ควรกลับมายึดหลักของกระบวนการการเลือกตั้ง
     
  • ทุกฝ่ายควรยึดมั่นต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยไม่ใช่ความรุนแรงและเคารพสิทธิของผู้อื่น
     
  • ฝ่ายทหารควรตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันโดยยึดหลักประชาธิปไตยและสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยระหว่างฝ่ายต่างๆ 
     
  • ประเทศไทยควรพูดคุยและตกลงอย่างเปิดเผยในเรื่องการปกครอง รวมถึงในเรื่องการกระจายอำนาจ การปฏิรูปสถาบันของรัฐต่างๆ แต่เรื่องเหล่านี้ควรถูกพูดคุยในระดับชาติ ไม่ใช่ถูกนำเสนอจากเพียงฝ่ายเดียว และควรให้เกิดขึ้นในระดับคู่ขนาน และควรไปให้เหนือกว่ากระบวนการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพื่อจะแทนที่มัน

หากทุกฝ่ายตกลงและเล็งเห็นความจำเป็นในการหลีกเลี่ยงความรุนแรง และการสร้างการพูดคุยในระดับชาติบนวาระที่เห็นร่วมกัน ทางออกอาจจะเกิดขึ้นได้ แม้ว่าสถานการณ์จะดูยากลำบากที่จะมีความหวัง แต่สำหรับกรุงเทพฯ แล้ว มันแทบไม่มีทางอื่นอีกแล้ว

กรุงเทพฯ / บรัสเซลส์

Subscribe to Crisis Group’s Email Updates

Receive the best source of conflict analysis right in your inbox.