เตือนความเสี่ยงความขัดแย้ง : ประเทศไทย
เตือนความเสี่ยงความขัดแย้ง : ประเทศไทย
Alert / Asia 3 minutes

เตือนความเสี่ยงความขัดแย้ง : ประเทศไทย

ระบบการเมืองของไทยกำลังชะงักงันและดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่สามารถฉุดรั้งสถานการณ์ซึ่งกำลังขยายไปสู่ความขัดแย้งที่กว้างขวางมากขึ้น  การเผชิญหน้ากันบนท้องถนนในกรุงเทพฯ ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงรุนแรงมากขึ้นและอาจจะนำไปสู่สภาวะสงครามกลางเมือง ความแตกแยกที่เกิดขึ้นภายในประเทศอาจต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากบุคคลที่เป็นกลางจากภายนอก   ประเทศไทยควรจะพิจารณาความช่วยเหลือจากเพื่อนนานาชาติเพื่อป้องกันมิให้ความรุนแรงขยายตัวออกไปมากยิ่งขึ้น  ซึ่งแม้แต่ประเทศประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าก็เคยตอบรับความช่วยเหลือเช่นนี้

สถานการณ์ในพื้นที่

นับถึงขณะนี้ มีผู้ที่เสียชีวิตจากการปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า “กลุ่มคนเสื้อแดง” อย่างน้อย 26 คน  ตัวเลขนี้อาจจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหากกองทัพดำเนินการสลายกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมกันอย่างที่ใจกลางกรุงเทพฯ  กลุ่มคนเสื้อแดงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาในทันทีและจัดการเลือกตั้ง ในขณะที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องและมอบให้ทหารเข้าจัดการกับการชุมนุม

กรุงเทพฯ อยู่ในสภาวะตึงเครียด กลุ่มคนเสื้อแดงได้ทำให้กิจกรรมในย่านศูนย์กลางธุรกิจของเมืองหลวงที่เคยคึกคักต้องหยุดมาหลายสัปดาห์แล้ว  ผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านนั้นต้องย้ายออกเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงต่อการตกอยู่ท่ามกลางการปะทะระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของพวกเขาเพียงไม่กี่เมตร  มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หลายสิบครั้งโดยกลุ่มคนไม่ทราบฝ่าย  และหลายคนก็รอคอยให้ทหารดำเนินการเคลื่อนย้ายคนเสื้อแดงออกจากถนน

ความพยายามในการเจรจาที่ดำเนินการภายในประเทศล้มเหลว   กลุ่มภาคประชาสังคมได้พยายามประสานการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับผู้ประท้วงแต่ว่าไม่สามารถตกลงกันเรื่องกรอบเวลาในการยุบสภาได้ กลุ่มคนเสื้อแดงได้เสนอ 30 วัน แต่ว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ยื่นข้อเสนอเก้าเดือน  รอยแยกระหว่างกลุ่มชนชั้นนำอันประกอบไปด้วยผู้นำอาวุโสที่ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์  นายทหารที่มีอำนาจและกลุ่มผู้สนับสนุนชนชั้นกลาง กับกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งหลายคนในนั้นเป็นผู้สนับสนุนของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้ห่างออกจากกันมากขึ้น

ในขณะที่บางคนกล่าวโทษนายทักษิณว่าอยู่เบื้องหลังการเผชิญหน้าครั้งนี้ การประท้วงได้ก้าวไปไกลกว่าการควบคุมของเขา    คนไทยจำนวนมากเกิดความรู้สึกผิดหวังกับกลุ่มชนชั้นนำเพราะพวกเขาถูกกีดกันจากประโยชน์ที่เกิดจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจในหลายทศวรรษที่ผ่านมาและไม่พอใจกับการโค่นล้มรัฐบาลที่คนจนในชนบทเลือกมา  อาจเป็นความจริงที่คนไทยหลายคนยากที่จะยอมรับว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีความรุนแรงซึ่งมีประวัติศาสตร์ของต่อสู้กับระหว่างขบวนการกบฎกับรัฐบาลซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงการปกครองระบอบเผด็จการ  ถ้าหากรัฐบาลเข้าสลายการชุมนุม มีความเป็นไปได้ว่าความรุนแรงในกรุงเทพฯ จะขยายตัวออกไป

วิกฤตการณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงนี้ประเทศไทยอาจต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำกษัตริย์ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่าหกทศวรรษ  พระมหากษัตริย์อาจจะไม่อยู่ในสถานะที่จะเข้าช่วยจัดการแก้ไขความขัดแย้งได้  หรือถึงแม้พระองค์มีพระราชประสงค์ วิกฤตในครั้งนี้ก็มีความซับซ้อนกว่าในครั้งก่อนๆ ที่พระองค์ทรงเข้าแก้ไข   และหากไม่สำเร็จ ก็อาจจะมีผลต่อสถานภาพและบารมีของสถาบันกษัตริย์

รัฐบาลควรตระหนักว่าการปราบปรามอย่างรุนแรงจะเป็นสิ่งที่ทำลายพวกเขาเองและอาจทำให้ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้น  แกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดงเองก็ต้องยอมรับว่าการท้าทายยั่วยุและการใช้ความรุนแรง มีแต่จะทำลายการเรียกร้องประชาธิปไตยของพวกเขาและความชอบธรรมของขบวนการต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด

ควรมีการดำเนินการอะไร

สิ่งที่ควรจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ:

  • การจัดตั้งกลุ่มประสานงานระดับสูงที่นำโดยผู้นำที่ได้รับความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติ (a high-level facilitation group of international figures)   นายโจเซ รามอส ฮอร์ตา ประธานาธิบดีติมอร์ ตะวันออก ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพได้เดินทางมาที่กรุงเทพฯ ด้วยความริเริ่มของท่านเอง ซึ่งท่านอาจจะได้ร่วมกับบุคคลอื่นๆ โดยอาจพิจารณาคัดเลือกจากผู้นำในกลุ่ม The Elders* หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีประสบการณ์และความคุ้นเคยเกี่ยวกับประเทศไทย
     
  • กลุ่มดังกล่าวนี้ ซึ่งควรจะทำงานร่วมกับผู้นำของไทยที่ได้รับการยอมรับ ควรผลักดันให้รัฐบาลและกลุ่มคนเสื้อแดงดำเนินการเพื่อหยุดความรุนแรง เช่น รัฐบาลควรจะหยุดปฏิบัติการทางการทหาร และกลุ่มคนเสื้อแดงก็ควรจะจำกัดพื้นที่การชุมนุมให้เล็กลงเพื่อคงไว้เป็นเพียงสัญลักษณ์การต่อสู้แต่ไม่ขัดขวางการดำเนินชีวิตของประชาชนในกรุงเทพฯ  นอกจากนี้  ควรจะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (a national unity committee) โดยคัดเลือกจากบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ
     
  • คณะกรรมการชุดนี้ควรดำเนินการเพื่อริเริ่มการเจรจา โดยมีกลุ่มผู้นำในระดับนานาชาติให้การช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อแสวงหาข้อตกลงในการตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (an interim government of national unity) เพื่อเตรียมการไปสู่การเลือกตั้ง  กระบวนการการนี้อาจมีการถกเถียงขัดแย้งกัน  และไม่ควรจะรีบเร่งจัดการเลือกตั้งอย่างที่เรียกร้อง  นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราวนี้จะต้องคัดเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  แต่ว่ารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ควรจะมาจากบุคคลที่ได้รับการเคารพเชื่อถือและเป็นกลางซึ่งมาจากกลุ่มคนหลากหลายสาขา
     
  • คณะกรรมการนี้ควรจะดำเนินการจัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อแสวงหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์การปะทะเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงกับรัฐบาลบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในครั้งนี้

เมื่อสามารถควบคุมวิกฤตได้แล้วและหลักแห่งกฎหมายได้กลับคืนมาสู่สังคมไทย  การเจรจาในทางการเมืองจะได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร และอาจจะต้องการกระบวนการสร้างความเชื่อมั่น  รวมถึงการระบุถึงความรับผิดชอบของทั้งสองฝ่ายในเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น   เราจำเป็นจะต้องนำการเมืองกลับไปสู่เวทีรัฐสภา  ชิวิตทางการเมืองของคนไทยจะต้องเริ่มต้นอีกครั้งด้วยการเลือกตั้งครั้งใหม่  และอาจจะหมายรวมถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่ฉบับที่ร่างขึ้นภายใต้อิทธิพลของทหาร

กรุงเทพฯ / บรัสเซลส์

Subscribe to Crisis Group’s Email Updates

Receive the best source of conflict analysis right in your inbox.