An armed civil defence volunteer guards Muslim students with a banner saying "we don't want violence" during an anti-violence rally attended by Muslim and Buddhist residents in Thailand's southern Narathiwat province on January 22, 2019. Madaree TOHLALA / AFP
Briefing / Asia 20+ minutes

การพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ที่วิ่ง ๆ หยุด ๆ

การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกระงับไว้ ภายหลังมีความก้าวหน้าไปบ้าง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและขั้นตอนสามารถช่วยให้การเจรจาดำเนินต่อไปได้เมื่อกลับมาดำเนินการต่อ

 

มีเรื่องอะไรใหม่บ้าง? หลังจากบรรลุถึงข้อตกลงกับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับแผนที่นำทาง (roadmap) ไปสู่ข้อตกลงสันติภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ระงับการพูดคุยสันติภาพเพื่อรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม การระงับกรประชุมครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาลึก ๆ ในกระบวนการพูดคุย และอาจจะถูกเลื่อนไปอีกหลายเดือน

ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ? การเข้าร่วมของบีอาร์เอ็นในการพูดคุยที่ถูกระงับนั้นสะท้อนถึงความไม่ลงรอยกันภายในของกลุ่มต่อเรื่องการพูดคุย ปีกการทหารของบีอาร์เอ็นยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกแบบและเป้าหมายของการพูดคุย ข้อกังขานี้อาจนำไปสู่ความแตกแยกขององค์กร ซึ่งจะกระทบต่อความหวังเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ ในขณะที่สังคมทั่วไปยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

ควรทำอะไรบ้าง? แกนนำบีอาร์เอ็นอาวุโสควรมีส่วนร่วมในการพูดคุยมากขึ้น และคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็นนั้นต้องมีควาสมดุลระหว่างปีกการเมืองกับปีกการทหารเพื่อหลีกเลี่ยงความแตกแยก ในการดำเนินการปรึกษาหารือกับประชาชน รัฐบาลไทยควรให้การคุ้มครองทางกฎหมายกับตัวแทนของบีอาร์เอ็นและคนอื่น ๆ ที่เข้ามาร่วมในการรับฟังความเห็นของสาธารณะ

I. ภาพรวม

การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมลายูมุสลิม แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บีอาร์เอ็น) กำลังหยุดชะงัก การพูดคุยรอบล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์นั้นเปิดมิติใหม่ เพราะทั้งสองฝ่ายได้สร้างแผนที่นำทางเพื่อบรรลุถึงข้อตกลงในการแก้ไขความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเป็นเวลาสองทศวรรษ ตั้งแต่นั้น บีอาร์เอ็นปฏิเสธการพบปะกับฝ่ายไทยโดยอ้างว่าจะรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งในวันที่ 14  พฤษภาคม แต่สาเหตุที่บีอาร์เอ็นให้นั้นอาจแค่เป็นข้ออ้าง คณะตัวแทนบีอาร์เอ็นต้องเผชิญหน้ากับความจำเป็นบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกัน นั่นคือ การขับเคลื่อนกระบวนการไปข้างหน้าโดยยอมถอยในบางเรื่อง กับการรักษาความเชื่อมั่นกับปีกการทหารว่ายังคงต้องการบรรลุเป้าหมายเพื่อเอกราช ตัวแทนของบีอาร์เอ็นยังต้องรับมือกับความเสี่ยงที่จะถูกโดดเดี่ยวออกจากบรรดานักต่อสู้ในสนาม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความแตกแยกขององค์กร หากการพูดคุยฟื้นขึ้นอีกครั้ง ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและขั้นตอนกระบวนการนั้นจะเป็นประโยชน์ เช่น การมีตัวแทนของบีอาร์เอ็นที่สมดุลระหว่างปีกทหารกับปีกการเมือง การจัดตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาเพื่อดูแลกระบวนการพูดคุย และอำนวยพื้นที่สำหรับการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการ การแก้ไขความขัดแย้งอันยั่งยืนนั้นต้องมีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับทางออกทางการเมืองกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในเดือนมีนาคม บีอาร์เอ็นระงับการเข้าร่วมในการพูดคุยสันติภาพเพื่อยุติการก่อการกบฎอย่างเงียบ ๆ  องค์กรดังกล่าวได้ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยดินแดนที่พวกเขามองว่าเป็นมาตุภูมิของชาวมลายู ปาตานี ซึ่งประกอบด้วยสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย การชะลอครั้งนี้ได้สร้างความผิดหวังต่อกระบวนการสันติภาพซึ่งถูกคาดหวังไม่มากก็น้อย ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงในหลักการต่าง ๆ ที่เป็นแนวทางการพูดคุย ได้แก่ การแสวงหาทางออกทางการเมืองที่สอดคล้องกับความปรารถนาของประชาคมปาตานี และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไทย ตลอดจนลดการใช้ความรุนแรงในช่วงการปรึกษาหารือกับสาธารณชนเกี่ยวกับทางออกเหล่านี้      

ถึงแม้ว่า บีอาร์เอ็นอธิบายว่า พวกเขาชะลอการพูดคุยเพื่อรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งในเดือน พ.ค. แต่มีประเด็นอื่น ๆ ที่ควรถูกนำมาพิจารณาด้วย ข้อแรกและสำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ถอยจากการพูดคุยนั้นสะท้อนความตึงเครียดภายในสมาชิกเกี่ยวกับจุดหมายปลายทางของการพูดคุย ในเดือนมีนาคม 2565 คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะแสวงหาทางออกทางการเมืองที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไทย บางคนมองว่า ความคืบหน้าตรงนี้หมายความว่า บีอาร์เอ็นพร้อมที่จะไม่พูดถึงเอกราชซึ่งเป็นเป้าหมายของขบวนการฯ มานานแล้วบนโต๊ะเจรจา ปีกการทหารของบีอาร์เอ็นปฏิเสธเงื่อนไขเช่นนั้น และส่งสัญญาณความไม่เห็นด้วยต่อการพูดคุยด้วยปฏิบัติการทางการทหารที่ถี่ขึ้นและมีขนาดใหญ่กว่าเดิม นักต่อสู้บีอาร์เอ็นหลายคนเลือกที่จะตายในการปะทะกันกับฝ่ายความมั่นคงมากกว่ามอบตัว และจำนวนของชาวมลายู-มุสลิมที่ออกมาแสดงพวกเขาเป็นชะฮีดนั้นยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นแนวโน้มของการใช้ความรุนแรงที่เข้มข้นขึ้น 

ความพยายามของทางการไทยเพื่อแสวงหาความมั่นคงในพื้นที่นั้นมักจะสร้างความไม่มั่นคงในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมในพื้นที่ – โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมในพื้นที่มองว่า ความพยายามดังกล่าวนั้นมีความชอบธรรมหรือไม่ ความวิตกกังวลของรัฐไทยนั้นเป็นมรดกที่เกิดจากการกดขี่และการสร้างชาติไทยซึ่งเกิดขึ้นก่อนความไม่สงบรอบล่าสุดในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ไทยรู้สึกตกใจกับการแสดงอัตลัษณ์ของชาวมลายูปาตานีและการพูดถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง; เจ้าหน้าที่มักจะข่มขู่นักกิจกรรม และปกปิดวาทกรรมต่าง ๆ และบางส่วนของฝ่ายความมั่นคงยังนิยมการทำลายบีอาร์เอ็นโดยใช้วิธีการอื่น ๆ รวมถึงการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการปิดล้อมตรวจค้นที่มักจะลงเอยด้วยการสังหารผู้ต้องสงสัยโดยฝ่ายความมั่นคง การสื่อสารที่ไม่ชัดเจนจากฝ่ายรัฐบาล และความเข้าใจว่าการพูดคุยมีความคืบหน้าอย่างล่าช้า – รวมถึงการปฏิเสธการลงนามในเอกสารข้อตกลงต่างๆ – ซึ่งสิ่งเหล่านี้หล่อเลี้ยงความผิดหวังของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้             

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการพูดคุยมีเป้าหมายเชิงมนุษยธรรมเพื่อยุติความขัดแย้ง – และทั้งสองฝ่ายไม่ได้แสดงถึงเจตจำนงที่จะละทิ้งกระบวนการดังกล่าว – คู่กรณีควรใส่ใจก้าวต่อไปเพื่อให้ก้าวย่างของตนเข้มแข็งขึ้น รัฐบาลใหม่ของไทยควรมุ่งเป้าไปที่ฟื้นการพูดคุยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ โดยยึดถือคำสัญญาของบีอาร์เอ็นว่าองค์กรดังกล่าวจะกลับมาที่โต๊ะเจรจาหลังจากรัฐบาลใหม่ถูกจัดตั้ง ทั้งสองฝ่ายควรเตรียมตัวเพื่อขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นสารัตถะ รวมไปถึงแนวทางออกทางการเมืองระยะยาวจะมีรูปแบบอย่างไร

เกี่ยวกับโครงสร้างและกระบวนการพูดคุย จำเป็นต้องมีความเปลี่ยนแปลงตามลำดับ บีอาร์เอ็นจำเป็นต้องจัดการกับความแตกร้าวภายในที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของการพูดคุย และให้ปีกการทหารมีตัวแทนที่เหมาะสมเพียงพอในคณะพูดคุยด้วย ผู้นำอาวุโสของบีอาร์เอ็นควรมีบทบาทในการพูดคุยมากขึ้น การมีส่วนร่วมของผู้นำเหล่านี้จะสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับการสนับสนุนของพวกเขาต่อการพูดคุย และแสดงความมั่นใจในแนวทางแก้ไขทางการเมือง สำหรับรัฐบาลใหม่ของไทยแล้ว หลังจากการจัดตั้ง ควรก่อตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาเพื่อติดตามการพูดคุย ซึ่งเป็นตัวรับรองความต่อเนื่องของการพูดคุยแม้ว่ามีการเปลี่ยนรัฐบาล และสามารถส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนปาตานีในกระบวนการสันติภาพได้เพราะคณะกรรมาธิการเหล่านี้จะมีนักการเมืองที่ได้รับเลือกจากพื้นที่ด้วย

ตัวละครภายนอกก็สามารถช่วยกระบวนการสันติภาพได้ มาเลเซียซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกของการพูดคุย ได้กดดันกลุ่มขบวนการฯ ให้ยุติการสื่อสารกับส่วนกลางผ่านช่องทางลับ (back-channel) โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะรักษาอิทธิพลของตนเหนือกระบวนการ เป็นเพราะว่ามาเลเซียได้ให้ที่ลี้ภัยแก่บีอาร์เอ็นมานาน บีอาร์เอ็นเองก็ยากที่จะปฏิเสธความต้องการของมาเลเซียด้วย การที่อันวาร์ อิบราฮิม ผู้ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยได้รับชัยชนะของในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. 2565 และการแต่งตั้งหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ได้สร้างความหวังว่าการพูดคุยจะมีความคืบหน้า แต่ในการสื่อสารส่วนตัว สมาชิกของบีอาร์เอ็นยังแสดงความไม่พอใจต่อแรงกดดันจากรัฐบาลมาเลเซียที่ให้ยุติการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการกับฝ่ายไทยซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสันติภาพ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องการโอกาสสำหรับการสื่อสารแลกเปลี่ยนกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อทดลองความคิดและตรวจสอบขีดจำกัดต่าง ๆ มาเลเซียควรทำงานร่วมกับพวกเขาด้วยท่าทีที่ยืดหยุ่นซึ่งอนุญาตให้การสื่อสารไม่เป็นทางการสามารถดำเนินต่อไปได้

คู่กรณีทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งการพูดคุยไม่ได้อยู่ในความสนใจของคนในพื้นที่ และยังไม่มีวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ หากการพูดคุยไม่พิจารณาความใฝ่ฝันทางการเมืองของประชาชนในปาตานี กระบวนการดังกล่าวมีความเสี่ยงจะเป็นแค่การประชาสัมพันธ์เท่านั้น ขณะเดียวกันแต่ละฝ่ายก็ยึดถือยุทธศาสตร์การใช้ความรุนแรงเป็นพื้นฐาน ดังนั้น หากทางการไทยปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะสามารถช่วยกระบวนการสันติภาพได้ การปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่อสถานะทางการเมืองแบบเดิม (status quo) อาจทำให้ทางการไทยลำบากใจ แต่เจ้าหน้าที่รัฐควรพยายามหลีกเลี่ยงการเสวนาสาธารณะที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดหรือการจำกัดการรับฟังความเห็นสาธารณชน นอกจากนี้ ตัวแทนของบีอาร์เอ็นซึ่งลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศที่จะเข้าร่วมการปรึกษาหารือกับประชาชนส่วนใหญ่ติดคดีความมั่นคง ดังนั้นรัฐบาลควรให้การรับรองว่า พวกเขาจะสามารถเข้าร่วมกิจกรรมการปรึกษาหารือดังกล่าวได้โดยไม่ต้องกังวลกับการถูกเล่นงานตามกฎหมาย คู่กรณีก็ควรทาบทามฝ่ายที่สามที่ได้รับความเคารพ ให้มาอำนวยและติดตามการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มองว่า กระบวนการปรึกษาหารือกันนั้นเป็นกระบวนการที่เป็นธรรม ดังนั้น คู่กรณีไม่ใช่แค่หาข้อตกลงกับอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ยังต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้กรอบที่กำหนดโดยข้อตกลงสันติภาพด้วย      

Subscribe to Crisis Group’s Email Updates

Receive the best source of conflict analysis right in your inbox.